ข้อบังคับ TTAA
ข้อบังคับของสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว
สมาคมการค้าจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. 2509 และอยู่ในความควบคุมดูแลของสำนักงานทะเบียนสมาคมการค้าประจำกรุงเทพมหานคร
หมวดที่ 1 บทความทั่วไป
ข้อ 1. ชื่อของสมาคมการค้า สมาคมการค้านี้มีชื่อว่า “สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว” เรียกชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “ไทย ทราเวล เอเย่นต์ แอสโซซิเอชั่น” เขียนชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “THAI TRAVEL AGENTS ASSOCIATION” คำว่า “สมาคม” ต่อไปในข้อบังคับนี้ให้หมายถึง “สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว”
ข้อ 2. สำนักงานสมาคม สำนักงานของสมาคมนี้ ตั้งอยู่เลขที่ 128/45 ชั้น 5 ยูนิตจี อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
ข้อ 3. ตราของสมาคม ตราของสมาคมนี้มีเครื่องหมายเป็นรูป
หมวดที่ 2 วัตถุประสงค์
ข้อ 4. วัตถุประสงค์ของสมาคม สมาคมนี้มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
- ส่งเสริมการประกอบธุรกิจประเภทที่เกี่ยวกับการเดินทางและท่องเที่ยว โดยจำหน่ายบัตรโดยสารเครื่องบิน รถยนต์ รถไฟ เรือ ท่องเที่ยว ทั้งในและนอกประเทศ
- สนับสนุนและช่วยเหลือสมาชิก แก้ไขอุปสรรคข้อขัดข้องต่างๆ รวมทั้งเจรจาทำความตกลงกับบุคคลภายนอก ติดตามความเคลื่อนไหวของตลาดท่องเที่ยวทั้งภายในและภายนอกประเทศ เพื่อประโยชน์ร่วมกันในการประกอบธุรกิจ
- ประสานความสามัคคีและแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นซึ่งกันและกันในทางวิชาการ ข่าวสารการค้า ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการตลาดตลอดจนการอบรมเพิ่มความรู้แด่บุคลากร
- ขอสถิติหรือเอกสาร หรือขอทราบข้อความใด ๆ จากสมาชิกเกี่ยวกับการดำเนินการจำหน่ายบัตรโดยสารและท่องเที่ยว
- ร่วมมือกับรัฐบาลในการส่งเสริมการท่องเที่ยว ให้อยู่ในมาตรฐานที่ดีสอดคล้องกับนโยบายของทางราชการ
- ทำความตกลงหรือวางระเบียบให้สมาชิกปฏิบัติหรืองดเว้นการปฏิบัติเพื่อให้การประกอบธุรกิจของสมาชิกได้ดำเนินการไปด้วยความเรียบร้อย
- ส่งเสริมพลานามัย กีฬา และจัดงานบันเทิงเป็นครั้งคราว
- ประนีประนอมข้อพิพาทระหว่างสมาชิกหรือ ระหว่างสมาชิกกับบุคคลภายนอกในการประกอบธุรกิจ
- ให้ความอนุเคราะห์แก่สมาชิกในด้านงานสวัสดิการ เท่าที่ไม่เป็นการต้องห้ามตามมาตรา22 แห่งพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. 2509
- ไม่ดำเนินการในทางการค้าหรือการเมืองอย่างใดทั้งสิ้น
หมวดที่ 3 สมาชิกและสมาชิกภาพ
ข้อ 5. ประเภทสมาชิก สมาชิกของสมาคมฯ แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ สมาชิกสามัญ สมาชิกวิสามัญ สมาชิกส่วนภูมิภาค สมาชิกกิตติมศักดิ์
ข้อ 6. ประเภทของสมาชิก
- สมาชิกสามัญ ได้แก่ นิติบุคคลซึ่งได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายที่ประกอบธุรกิจนำเที่ยว และมีใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวประเภททั่วไป หรือธุรกิจจำหน่ายบัตรโดยสารที่เป็นสมาชิกสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA)
- สมาชิกวิสามัญ ได้แก่ บุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจทางการบิน โรงแรม ภัตตาคาร ธุรกิจการค้า หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว
- สมาชิกส่วนภูมิภาคได้แก่ สมาชิกสามัญตามข้อ 1 และสมาชิกวิสามัญตามข้อ 2 ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในภูมิภาค ภายใต้ความรับผิดชอบของชมรมไทยบริการท่องเที่ยวส่วนภูมิภาค
- สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ บุคคลธรรมดาที่ทรงคุณวุฒิ หรือนิติบุคคลที่มีอุปการคุณแก่สมาคม ซึ่งคณะกรรมการของสมาคมมีมติให้เข้าเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์
ข้อ 7. ผู้ที่จะเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมยังจะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
- บุคคลธรรมดา
(1) เป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว
(2) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย หรือบุคคลไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
(3) ไม่เคยเป็นบุคคลที่เคยต้องโทษจำคุกพิพากษาถึงที่สุดของศาลมาก่อน เว้นแต่ความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่มีกำหนดโทษขั้นลหุโทษ หรือความผิดซึ่งกระทำโดยประมาท
(4) ไม่เป็นโรคอันพึงรังเกียจแก่สังคม
(5) เป็นผู้มีหลักฐานมั่นคง
(6) เป็นผู้มีความประพฤติดี
- ในกรณีที่เป็นนิติบุคคล
(1) มีสัญชาติไทย ยกเว้นสมาชิกประเภทวิสามัญ
(2) มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาทให้นำความในข้อ 7.1 บังคับแก่คุณสมบัติของผู้แทนนิติบุคคลด้วย
ข้อ 8. การสมัครเป็นสมาชิก ผู้ที่ประสงค์จะสมัครเป็นสมาชิกของสมาคม จะต้องยื่นความจำนงต่อเลขาธิการสมาคมตามแบบพิมพ์ที่สมาคมได้กำหนดไว้ โดยมีสมาชิกสามัญของสมาคมเป็นผู้รับรองอย่างน้อย 2 คน สมาชิกสามัญต้องเสนอชื่อบุคคลระดับบริหารในนิติบุคคลนั้นๆ ไม่เกิน 3 ท่าน เป็นตัวแทนไว้เพื่อออกเสียงลงมติในการประชุมใหญ่ ออกเสียงเลือกตั้ง หรือสมัครเข้ารับเลือกตั้ง สิทธิดังกล่าวไม่สามารถมอบอำนาจช่วงได้ กรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงตัวแทนของนิติบุคคลนั้นๆ สมาชิกจะต้องมีหนังสือแจ้งให้สมาคมทราบถึงการเปลี่ยนแปลงล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน ก่อนวันออกเสียงลงมติในการประชุมใหญ่ ออกเสียงเลือกตั้ง หรือสมัครเข้ารับเลือกตั้ง
ข้อ 9. การพิจารณาคำขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกสมาคม ให้เลขาธิการนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการเพื่ออนุมัติ เมื่อกรรมการมีมติให้รับเป็นสมาชิกแล้ว ให้เลขาธิการแจ้งให้ผู้สมัครผู้นั้นทราบ
ข้อ 10. สมาชิกภาพ สมาชิกภาพเริ่มตั้งแต่วันที่ผู้สมัครได้ชำระค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงเรียบร้อยแล้ว
ข้อ 11. การขาดจากสมาชิกภาพ สมาชิกภาพย่อมสิ้นสุดลง ในกรณีดังต่อไปนี้
- ตาย หรือสิ้นสภาพนิติบุคคล
- ขาดคุณสมบัติตามข้อ 6.1 หรือ 6.2 แล้วแต่กรณี
- ลาออก โดยที่ยื่นหนังสือลาออกต่อคณะกรรมการสมาคม
- ขาดคุณสมบัติตามข้อ 7
- คณะกรรมการของสมาคมลงมติให้ลบชื่อออกจากทะเบียนสมาชิกโดย คะแนนเสียงข้างมาก ด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดดังต่อไปนี้
(1) เจตนากระทำการใดๆ ที่ทำให้สมาคมเสื่อมเสียชื่อเสียง
(2) เจตนาละเมิดข้อบังคับสมาคม
(3) ขาดส่งเงินค่าบำรุงสมาคมเกินกว่า 3 เดือน
ข้อ 12. ทะเบียนสมาชิก ให้นายทะเบียนสมาคมจัดทำทะเบียนสมาชิกเก็บไว้ ณ สำนักงานของสมาคมโดยมีรายการตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. 2509 ได้กำหนดไว้
หมวดที่ 4 ค่าลงทะเบียน และค่าบำรุง
ข้อ 13. ค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคม
- สมาชิกสามัญจะต้องชำระค่าลงทะเบียนแรกเข้า 2,000 บาท และค่าบำรุงสมาคมฯ เป็นประจำปีๆ ละ 4,000 บาท (สี่พันบาทถ้วน)
- สมาชิกวิสามัญจะต้องชำระค่าลงทะเบียนแรกเข้า 2,000 บาท และค่าบำรุงสมาคมฯ เป็นประจำปีๆ ละ 4,000 บาท (สี่พันบาทถ้วน)
- สมาชิกส่วนภูมิภาคจะต้องชำระค่าลงทะเบียนแรกเข้า 1,000 บาท และค่าบำรุงสมาคมฯ เป็นประจำทุกปีๆ ละ 2,000 บาท (สองพันบาทถ้วน)
- สมาชิกกิตติมศักดิ์ ไม่ต้องชำระค่าลงทะเบียนหรือค่าบำรุงแต่อย่างใดทั้งสิ้น
หมวดที่ 5 สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก
ข้อ 14. สิทธิของสมาชิก
- เข้าร่วมประชุมสามัญ และวิสามัญแสดงความคิดเห็นซักถามข้อข้องใจต่างๆ ต่อกรรมการ
- ได้รับความช่วยเหลือและการสงเคราะห์ในเรื่องที่เกี่ยวกับกิจการตามวัตถุประสงค์ของสมาคม
- เสนอความคิดเห็นหรือให้คำแนะนำต่อคณะกรรมการสมาคมในเรื่องใดๆ ตามวัตถุประสงค์ของสมาคม เพื่อนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองของสมาคม
- ขอตรวจสอบกิจการและทรัพย์สินของสมาคมโดยทำเป็นหนังสือยื่นต่อเลขาธิการสมาคม
- ประดับเครื่องหมายของสมาคม
- เฉพาะสมาชิกสามัญเท่านั้นที่มีสิทธิในการรับเลือกตั้งเป็นกรรมการ ออกเสียงลงคะแนน และลงมติในที่ประชุมใหญ่ ทั้งนี้สมาชิกสามัญผู้นั้นต้องไม่ค้างชำระค่าบำรุงสมาคม
- สมาชิกสามัญที่มีสิทธิในการรับเลือกตั้งเป็นกรรมการ ออกเสียงลงคะแนน และลงมติในที่ประชุมใหญ่นั้นจะต้องเป็นสมาชิกสามัญมาไม่น้อยกว่า 180 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง
ข้อ 15. หน้าที่ของสมาชิก
- ต้องปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ และมติของที่ประชุมกรรมการ และ ที่ประชุมใหญ่โดยเคร่งครัด
- ดำรงรักษาเกียรติ และผลประโยชน์ส่วนรวมของสมาคม
- ส่งเสริมและสนับสนุน และเข้าร่วมกิจการของสมาคม
- ชำระค่าบำรุงให้แก่สมาคมตามกำหนด
- สมาชิกผู้ใดที่เปลี่ยนแปลงสถานะ เช่นเปลี่ยนชื่อ ย้ายที่อยู่ เปลี่ยนโทรศัพท์ ฯลฯ ต้องแจ้งให้เลขาธิการสมาคมทราบเป็นหนังสือภายในกำหนดเวลา 90 วัน นับตั้งแต่วันที่เปลี่ยนแปลง
หมวดที่ 6 คณะกรรมการของสมาคม
ข้อ 16. ให้มีคณะกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่งเป็นผู้บริหารงานของสมาคม และเป็นตัวแทนของสมาคม ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก ประกอบด้วยสมาชิกสามัญ ซึ่งได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี เพื่อดำรงตำแหน่ง นายก อุปนายก เลขาธิการ เหรัญญิก นายทะเบียน ประชาสัมพันธ์ และปฏิคม ตำแหน่งละ 1 คน ยกเว้นตำแหน่งอุปนายก ให้มี 7 คน ให้ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกสมาคมพิจารณา แต่งตั้งสมาชิกสามัญ เป็นกรรมการจำนวนอีกไม่เกิน 15 คน เพื่อดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการ ให้ประธานชมรมไทยบริการท่องเที่ยวส่วนภูมิภาคเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ผู้ที่ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมจะต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย
ข้อ 17. การเลือกตั้งคณะกรรมการให้กระทำโดยวิธีให้สมาชิกสามัญเสนอชื่อคณะสมาชิกสามัญ ซึ่งประสงค์จะให้เข้ารับเลือกเป็นคณะกรรมการต่อที่ประชุม โดยมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 10 คน แล้วให้ที่ประชุมใหญ่ลงมติเลือกตั้งคณะที่ได้รับคะแนนสูงสุดดำรงตำแหน่งกรรมการ ถ้าคณะที่ได้คะแนนเท่ากัน ให้ที่ประชุมใหญ่ลงมติใหม่ เฉพาะคณะที่ได้คะแนนสูงสุดเท่ากัน หากปรากฏว่ายังได้คะแนนเท่ากันอีก ก็ให้ใช้วิธีจับฉลาก
ข้อ 18. กรรมการอยู่ในตำแหน่งตามวาระ คราวละ 2 ปี กรรมการที่พ้นจากตำแหน่ง มีสิทธิ์ได้รับเลือกเป็นกรรมการใหม่ได้ ยก เว้นนายกสมาคมให้อยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 สมัยติดต่อกัน
ข้อ 19. การพ้นจากตำแหน่งกรรมการ กรรมการของสมาคมย่อมพ้นจากตำแหน่งกรรมการ ในกรณีดังต่อไปนี้
- ครบกำหนดออกตามวาระ
- ลาออก โดยได้ยื่นหนังสือลาออกต่อคณะกรรมการของสมาคม
- พ้นจากการเป็นผู้แทนของสมาชิกสามัญซึ่งเป็นนิติบุคคล
- ขาดจากสมาชิกภาพ
- ที่ประชุมใหญ่มีมติให้ถอดถอนจากการเป็นกรรมการ
- เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สั่งออก ตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. 2509
- ขาดคุณสมบัติ ตามข้อ1
ข้อ 20. กรณีที่กรรมการพ้นจากตำแหน่งกรรมการก่อนครบกำหนดออกตามวาระ นายก ของสมาคม อาจตั้งสมาชิกสามัญคนใดคนหนึ่งให้เป็นกรรมการแทนได้ แต่กรรมการที่ได้รับแต่งตั้งแทนนี้ ให้เป็นกรรมการอยู่ในตำแหน่งได้เท่าที่กำหนดเวลาของผู้ที่ตนแทน กรณีคณะกรรมการพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะก่อนครบกำหนดให้คณะกรรมการชุดเดิมรักษาการชั่วคราว จนกว่าจะได้คณะ กรรมการชุดใหม่
ข้อ 21. องค์ประชุมในการประชุมของคณะกรรมการ ยกเว้นกรรมการที่เป็นประธานชมรมไทยบริการท่องเที่ยวส่วนภูมิภาค ต้องมีกรรมการเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะนับว่าเป็นองค์ประชุม
ข้อ 22. มติของที่ประชุมคณะกรรมการ นอกจากที่กล่าวไว้เป็นอย่างอื่นในข้อบังคับนี้ ให้ถือเอาคะแนนเสียงข้างมากเป็นมติของที่ประชุม ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด
ข้อ 23. ประธานในที่ประชุม ให้นายกสมาคมเป็นประธานในที่ประชุม ถ้านายกไม่อยู่ให้อุปนายกหรือกรรม การคนใดคนหนึ่งเป็นประธานที่ประชุมเฉพาะในการประชุมคราวนั้น
ข้อ 24. การประชุมคณะกรรมการ ให้มีการประชุมอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง
ข้อ 25. กรรมการเก่าต้องส่งมอบงานให้กรรมการใหม่ที่ได้รับเลือก ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันเลือกตั้ง และให้ดำเนินการจดทะเบียนต่อนายทะเบียนสมาคมโดยพลัน
ข้อ 26. ให้คณะกรรมการของสมาคมมีอำนาจและหน้าที่ดังนี้
- จัดดำเนินกิจการและทรัพย์สินของสมาคมให้เป็นไปตามข้อบังคับและมติของที่ประชุม
- กำหนดระเบียบ วิธีปฏิบัติงานของสมาคมและออกข้อกำหนดต่างๆเท่าที่ไม่แย้งหรือขัดกับข้อบังคับนี้
- แต่งตั้งคณะที่ปรึกษา คณะทำงาน อนุกรรมการฝ่ายต่างๆ ว่าจ้าง แต่งตั้ง และถอดถอน เจ้าหน้าที่และพนักงานทั้งปวง เพื่อให้การดำเนินงานของสมาคมเป็นไปโดยเรียบร้อยโดยอยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการของสมาคม
ข้อ 27. อำนาจหน้าที่กรรมการของสมาคมในตำแหน่งต่างๆ มีดังนี้
- นายกสมาคม มีหน้าที่ดำเนินกิจการของสมาคมให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับเป็นผู้แทนของสมาคมในการติดต่อกับบุคคลภายนอก เป็นประธานในที่ประชุมของคณะกรรมการ และ ที่ประชุมใหญ่สมาชิก
- อุปนายก มีหน้าที่เป็นผู้ช่วยนายกในกิจการทั้งปวงที่นายกมอบหมาย หรือเมื่อนายกสมาคมไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้
- เลขาธิการ มีหน้าที่ทำการโต้ตอบหนังสือเก็บรักษาเอกสารต่างๆ ของสมาคม เป็นเลขาธิการในที่ประชุมคณะกรรมการของสมาคมและที่ประชุมใหญ่ ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่คณะกรรมการของสมาคมจะได้รับมอบหมาย
- เหรัญญิก มีหน้าที่รักษาและจ่ายเงินของสมาคมทำบัญชีการเงิน เก็บรักษาและจ่ายพัสดุของสมาคม ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่คณะกรรมการของสมาคมจะได้รับมอบหมาย
- ประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่เกี่ยวกับการโฆษณาเชิญชวนหาสมาชิก โฆษณากิจการและผลงานด้านต่างๆ ของสมาคมตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่นๆตามที่คณะกรรมการของสมาคมจะได้มอบหมาย
- ปฏิคม มีหน้าที่ต้อนรับรักษาสำนักงานของสมาคม รักษาความเรียบร้อยของสถานที่ รักษาสมุดเยี่ยม จัดสถานที่ประชุมตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่คณะกรรมการของสมาคมจะได้มอบหมาย
- นายทะเบียน มีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดทำทะเบียนสมาชิกและทะเบียนต่างๆ อันมิใช่ทะเบียนเกี่ยวกับการเงินของสมาคม ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่คณะกรรมการของสมาคมจะได้มอบหมาย
- กรรมการกลาง มีหน้าที่ประสานงานทั่วไป และตามที่นายกสมาคมมอบหมาย
หมวดที่ 7 การประชุมใหญ่
ข้อ 28. การประชุมใหญ่ การประชุมใหญ่ให้หมายถึงการประชุมสมาชิกของสมาคมแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
- การประชุมใหญ่สามัญ คือ การประชุมใหญ่ที่จะต้องให้มีขึ้นปีละหนึ่งครั้ง
2. การประชุมใหญ่วิสามัญ คือ การประชุมนอกจากการประชุมใหญ่สามัญประจำปี
ข้อ 29. กำหนดการประชุมใหญ่มีดังนี้
- ให้มีการประชุมสามัญประจำปี ภายในกำหนด 120 วัน นับแต่วันสิ้นปีการบัญชี
- ถ้ามีวาระที่คณะกรรมการของสมาคมเห็นสมควร หรือสมาชิกสามัญมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ แสดงความจำนงที่จะให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญเป็นวาระพิเศษ โดยทำเป็นหนังสือยื่นต่อเลขาธิการของสมาคม ให้คณะกรรมการเรียกประชุมภายในกำหนดเวลา 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ
หากคณะกรรมการไม่เรียกประชุมใหญ่วิสามัญภายในกำหนดเวลานี้ สมาชิกสามัญไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่อาจเรียกประชุมได้ภายใน 30 วัน โดยสมาคมเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าวข้างต้น
ข้อ 30. การส่งหนังสือบอกกล่าวนัดประชุม คณะกรรมการของสมาคมจะต้องส่งหนังสือบอกกล่าวถึง วัน เวลา สถานที่ และวาระการประชุมโดยทางจดหมาย และ/หรือ Fax และ/หรือ E-mail ณ ที่อยู่ของสมาชิกที่ปรากฏอยู่ในทะเบียน ก่อนกำหนดวันประชุม ไม่น้อยกว่า 7 วัน
ข้อ 31. ในการประชุมใหญ่สามัญ และวิสามัญ จะต้องมีสมาชิกมาประชุมหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกประเภทสามัญจึงจะถือเป็นองค์ประชุม
ข้อ 32. กรณีที่การประชุมใหญ่ในครั้งแรก สมาชิกมาไม่ครบองค์ประชุม ให้เลื่อนการประชุม โดยให้เรียกการประชุมอีกครั้งภายใน 14 วัน ในการประชุมใหญ่ครั้งหลังนี้จะมีสมาชิกมา มากน้อยเพียงใดก็ให้ถือว่าเป็นองค์ประชุม
ข้อ 33. ประธานในที่ประชุม ให้นายกฯ เป็นประธานในที่ประชุมใหญ่ ถ้านายกสมาคมไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้อุปนายกฯทำหน้าที่แทน ถ้าทั้งนายกฯ และอุปนายกฯ ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้ที่ประชุมเลือกตั้ง กรรมการคนหนึ่งคนใดขึ้นเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าไม่มีกรรมการอยู่ในที่ประชุมเลย ก็ให้ที่ประชุมใหญ่เลือกสมาชิกสามัญคนหนึ่งคนใดขึ้นเป็นประธานในที่ประชุมเฉพาะการประชุมคราวนั้น
ข้อ 34. วิธีออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่ สมาชิกคนหนึ่งๆมีคะแนนเสียงหนึ่งเสียง การออกเสียงในที่ประชุมใหญ่ ให้เลือกปฏิบัติได้เป็น 2 กรณี คือ
- โดยวิธีลงคะแนนลับให้ใช้วิธีเขียนบัตรลงคะแนน
- โดยวิธีเปิดเผยให้ใช้วิธีชูมือ
ข้อ 35. มติของที่ประชุม นอกจากที่กล่าวไว้เป็นอย่างอื่นในข้อบังคับนี้ ให้ถือเอาคะแนนเสียงข้างมากเป็นมติของที่ประชุม ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด
ข้อ 36. การประชุมใหญ่สามัญประจำปี ต้องมีวาระดังนี้
- รับรองรายงานการประชุมครั้งที่แล้ว
- แถลงผลการดำเนินกิจการของสมาคมในช่วงปีที่ผ่านมา
- พิจารณาอนุมัติงบดุล บัญชีรายได้ – รายจ่าย
- เลือกตั้งคณะกรรมการ (ถ้ามี)
- แต่งตั้งผู้สอบบัญชีประจำปี และกำหนดค่าตอบแทน
- เรื่องอื่นๆ (ถ้ามี)
หมวดที่ 8 การเงินและการบัญชีของสมาคม
ข้อ 37. ให้ฝ่ายบัญชี จัดทำงบดุลบัญชีรายได้ – รายจ่าย ปีละหนึ่งครั้ง แล้วให้ผู้สอบบัญชีทำการตรวจสอบ ผู้สอบบัญชีจะต้องตรวจสอบและรับรองให้แล้วเสร็จก่อนวันประชุมสามัญประจำปี
ข้อ 38. ปีการบัญชี ให้ถือเอาวันที่ 31 เดือนธันวาคม ของทุกปี เป็นวันสิ้นปีการบัญชีของสมาคม
ข้อ 39. ผู้สอบบัญชีซึ่งที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งมีอำนาจเข้าตรวจสอบสมุดบัญชี และบรรดาเอกสารเกี่ยวกับการเงินของสมาคมและมีสิทธิสอบถาม กรรมการ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของสมาคมทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบัญชีและเอกสารดังกล่าว ในการนี้กรรมการและเจ้าหน้าที่จะต้องให้ความสะดวกเพื่อการตรวจสอบดังกล่าว
ข้อ 40. สมุดบัญชีและเอกสารการเงินของสมาคมจะต้องเก็บรักษาไว้ ณ สำนักงานของสมาคม และให้อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของเหรัญญิกสมาคม
ข้อ 41. เงินสดของสมาคมจะต้องนำฝากไว้ ณ ธนาคารพาณิชย์ในนามของสมาคม โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ให้มีเงินทดรองจ่ายเกี่ยวกับกิจการของสมาคมไม่เกินวงเงิน 20,000 บาท (สองหมื่นบาทถ้วน) ในการนี้ให้ผู้จัดการสมาคมเป็นผู้รับผิดชอบและเก็บรักษาตัวเงิน การฝากและการถอนเงินจากธนาคารให้อยู่ในอำนาจของนายกสมาคมหรืออุปนายกสมาคม ร่วมกับเลขาธิการหรือเหรัญญิก พร้อมประทับตราสำคัญของสมาคม
ข้อ 42. การจ่ายเงินของสมาคม ในการจ่ายเงินของสมาคม ครั้งละเกินกว่า 100,000 บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน) ให้กระทำโดยมติของที่ประชุมคณะกรรมการ ยกเว้นการจ่ายเงินตามโครงการของสมาคมซึ่งที่ประชุมกรรมการได้มีมติอนุมัติในรายละเอียดของโครงการและงบประมาณ สามารถจ่ายเงินได้ไม่เกินงบประมาณที่ได้รับการอนุมัติไปแล้วเท่านั้น
หมวดที่ 9 การแก้ไขข้อบังคับ การเลิกสมาคม และการชำระบัญชี
ข้อ 43. ข้อบังคับนี้จะแก้ไขเปลี่ยนแปลง โดยมติของที่ประชุมใหญ่
ข้อ 44. สมาคมนี้อาจเลิกได้ด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดดังต่อไปนี้
- เมื่อที่ประชุมใหญ่ลงมติให้เลิกด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกสามัญทั้งหมด
- เมื่อล้มละลาย
- เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สั่งให้เลิกตามมาตรา 36 แห่ง พระราช บัญญัติสมาคมการค้าพ.ศ. 2509
ข้อ 45. เมื่อสมาคมนี้ต้องเลิกไปเพราะเหตุหนึ่งเหตุใดดังกล่าวในข้อ 44. การชำระบัญชี ของสมาคมให้นำบทบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. 2509 มาใช้บังคับ ในกรณีที่สมาคมต้องเลิกไปตามข้อ 44.1 ให้ที่ประชุมใหญ่ครั้งนั้นลงมติเลือกตั้งผู้ชำระบัญชี และหากต้องเลิกไปตามข้อ 44.3 ให้นายก อุปนายก เหรัญญิกของสมาคม เป็นผู้ชำระบัญชี หากมีทรัพย์สินของสมาคมเหลือจากการชำระบัญชีให้ยกให้แก่ สมาคม หรือมูลนิธิในประเทศไทยที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการกุศลสาธารณะแห่งหนึ่งแห่งใดหรือหลายแห่งตามมติของที่ประชุมใหญ่
หมายเหตุ:
แก้ไขข้อบังคับตามมติที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2548 วันที่ 28 เมษายน 2548
– หมวดที่ 3 สมาชิกและสมาชิกสมทบ ข้อ 5, 6, 7, 8, 9, 11, 12
– หมวดที่ 4 ค่าลงทะเบียนและค่าบำรุง ข้อ 14
– หมวดที่ 5 สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก ข้อ 15, 16
– หมวดที่ 6 คณะกรรมการสมาคมฯ ข้อ 17, 18, 19, 20, 24, 25, 26
– หมวดที่ 7 การประชุมใหญ่ ข้อ 29, 30, 31, 33, 36, 37
– หมวดที่ 8 การเงินและการบัญชีของสมาคมฯ ข้อ 38, 42, 43
– หมวดที่ 9 การแก้ไขข้อบังคับ การเลิกสมาคมฯ และการชำระบัญชี ข้อ 44, 45, 46
– หมวดที่ 10 บทเฉพาะกาล ข้อ 47, 48, 49
แก้ไขข้อบังคับตามมติที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2549 วันที่ 4 พฤษภาคม 2549
– หมวดที่ 1 บทความทั่วไป ข้อ 2
– หมวดที่ 2 ค่าลงทะเบียนและค่าบำรุง ข้อ 13
– หมวดที่ 7 การประชุมใหญ่ ข้อ 31
แก้ไขข้อบังคับตามมติที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2552 วันที่ 27 เมษายน 2553
– หมวดที่ 4 ค่าลงทะเบียน และค่าบำรุง ข้อ 13
แก้ไขข้อบังคับตามมติที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2553 วันที่ 19 เมษายน 2554
– หมวดที่ 1 บทความทั่วไป ข้อ 3
– หมวดที่ 7 การประชุมใหญ่สามัญ ข้อ 29, 31, 32
แก้ไขข้อบังคับตามมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี 2555 วันที่ 22 พฤษภาคม 2556
– หมวดที่ 7 การประชุมใหญ่สามัญ ข้อ 30, 31, 32
แก้ไขข้อบังคับตามมติที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2557 วันที่ 28 เมษายน 2558
– หมวดที่ 3 สมาชิกและสมาชิกภาพ ข้อ 5, 6, 7, 8, 11
– หมวดที่ 4 ค่าลงทะเบียนและค่าบำรุง ข้อ 13
– หมวดที่ 5 สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก ข้อ 14, 15
– หมวดที่ 6 คณะกรรมการสมาคมฯ ข้อ 16, 17, 19, 21
– หมวดที่ 7 การประชุมใหญ่ ข้อ 29, 36
– หมวดที่ 8 การเงินและการบัญชีของสมาคมฯ ข้อ 41, 42
แก้ไขข้อบังคับตามมติที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2559 วันที่ 27 เมษายน 2560
– หมวดที่ 7 การประชุมใหญ่ ข้อ 31
แก้ไขข้อบังคับตามมติที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2563 วันที่ 27 พฤษภาคม 2564
– หมวดที่ 3 สมาชิกและสมาชิกภาพ ข้อ 6
– หมวดที่ 5 สิทธิและหน้าที่สมาชิก ข้อ 14 , 15
– หมวดที่ 7 การประชุมใหญ่ ข้อ 29 , 31