สมาคมการค้าจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. 2509 และอยู่ในความควบคุมดูแลของสำนักงานทะเบียนสมาคมการค้าประจำกรุงเทพมหานคร

หมวดที่ 1 บทความทั่วไป

ข้อ 1. ชื่อของสมาคมการค้า สมาคมการค้านี้มีชื่อว่า  “สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว” เรียกชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า  “ไทย ทราเวล เอเย่นต์ แอสโซซิเอชั่น” เขียนชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “THAI TRAVEL AGENTS ASSOCIATION” คำว่า  “สมาคม”  ต่อไปในข้อบังคับนี้ให้หมายถึง “สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว”

ข้อ 2. สำนักงานสมาคม สำนักงานของสมาคมนี้ ตั้งอยู่เลขที่ 128/45 ชั้น 5 ยูนิตจี อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ข้อ 3. ตราของสมาคม ตราของสมาคมนี้มีเครื่องหมายเป็นรูป

logo ttaa2.2

หมวดที่ 2 วัตถุประสงค์

ข้อ 4. วัตถุประสงค์ของสมาคม สมาคมนี้มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

ส่งเสริมการประกอบธุรกิจประเภทที่เกี่ยวกับการเดินทางและท่องเที่ยว โดยจำหน่ายบัตรโดยสารเครื่องบิน รถยนต์ รถไฟ เรือ ท่องเที่ยว ทั้งในและนอกประเทศ
สนับสนุนและช่วยเหลือสมาชิก แก้ไขอุปสรรคข้อขัดข้องต่างๆ รวมทั้งเจรจาทำความตกลงกับบุคคลภายนอก ติดตามความเคลื่อนไหวของตลาดท่องเที่ยวทั้งภายในและภายนอกประเทศ เพื่อประโยชน์ร่วมกันในการประกอบธุรกิจ
ประสานความสามัคคีและแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นซึ่งกันและกันในทางวิชาการ ข่าวสารการค้า ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการตลาดตลอดจนการอบรมเพิ่มความรู้แด่บุคลากร
ขอสถิติหรือเอกสาร หรือขอทราบข้อความใด ๆ จากสมาชิกเกี่ยวกับการดำเนินการจำหน่ายบัตรโดยสารและท่องเที่ยว
ร่วมมือกับรัฐบาลในการส่งเสริมการท่องเที่ยว ให้อยู่ในมาตรฐานที่ดีสอดคล้องกับนโยบายของทางราชการ
ทำความตกลงหรือวางระเบียบให้สมาชิกปฏิบัติหรืองดเว้นการปฏิบัติเพื่อให้การประกอบธุรกิจของสมาชิกได้ดำเนินการไปด้วยความเรียบร้อย
ส่งเสริมพลานามัย กีฬา  และจัดงานบันเทิงเป็นครั้งคราว
ประนีประนอมข้อพิพาทระหว่างสมาชิกหรือ ระหว่างสมาชิกกับบุคคลภายนอกในการประกอบธุรกิจ
ให้ความอนุเคราะห์แก่สมาชิกในด้านงานสวัสดิการ เท่าที่ไม่เป็นการต้องห้ามตามมาตรา22 แห่งพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. 2509
ไม่ดำเนินการในทางการค้าหรือการเมืองอย่างใดทั้งสิ้น
หมวดที่ 3 สมาชิกและสมาชิกภาพ

ข้อ 5. ประเภทสมาชิก สมาชิกของสมาคมฯ แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ สมาชิกสามัญ สมาชิกวิสามัญ สมาชิกส่วนภูมิภาค สมาชิกกิตติมศักดิ์

ข้อ 6. ประเภทของสมาชิก

สมาชิกสามัญ ได้แก่ นิติบุคคลซึ่งได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายที่ประกอบธุรกิจนำเที่ยว และมีใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวประเภททั่วไป หรือธุรกิจจำหน่ายบัตรโดยสารที่เป็นสมาชิกสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA)
สมาชิกวิสามัญ ได้แก่ บุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจการบิน โรงแรม ภัตตาคาร ธุรกิจ หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว
สมาชิกส่วนภูมิภาคได้แก่ สมาชิกสามัญตามข้อ 1 และสมาชิกวิสามัญตามข้อ 2 ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในภูมิภาค ภายใต้ความรับผิดชอบของชมรมไทยบริการท่องเที่ยวส่วนภูมิภาค
สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ บุคคลธรรมดาที่ทรงคุณวุฒิ หรือนิติบุคคลที่มีอุปการคุณแก่สมาคม ซึ่งคณะกรรมการของสมาคมมีมติให้เข้าเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์
ข้อ 7. ผู้ที่จะเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมยังจะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

บุคคลธรรมดา
   (1) เป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว

   (2) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย หรือบุคคลไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ

   (3) ไม่เคยเป็นบุคคลที่เคยต้องโทษจำคุกพิพากษาถึงที่สุดของศาลมาก่อน เว้นแต่ความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่มีกำหนดโทษขั้นลหุโทษ หรือความผิดซึ่งกระทำโดยประมาท

   (4) ไม่เป็นโรคอันพึงรังเกียจแก่สังคม

   (5) เป็นผู้มีหลักฐานมั่นคง

   (6) เป็นผู้มีความประพฤติดี

ในกรณีที่เป็นนิติบุคคล
   (1) มีสัญชาติไทย ยกเว้นสมาชิกประเภทวิสามัญ

   (2) มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาทให้นำความในข้อ 7.1 บังคับแก่คุณสมบัติของผู้แทนนิติบุคคลด้วย

ข้อ 8. การสมัครเป็นสมาชิก ผู้ที่ประสงค์จะสมัครเป็นสมาชิกของสมาคม จะต้องยื่นความจำนงต่อเลขาธิการสมาคมตามแบบพิมพ์ที่สมาคมได้กำหนดไว้ โดยมีสมาชิกสามัญของสมาคมเป็นผู้รับรองอย่างน้อย 2 คน สมาชิกสามัญต้องเสนอชื่อผู้แทนไม่เกิน 3 ท่าน เป็นตัวแทนไว้เพื่อออกเสียงลงมติในการประชุมใหญ่ ออกเสียงเลือกตั้ง หรือสมัครเข้ารับเลือกตั้ง สิทธิดังกล่าวไม่สามารถมอบอำนาจช่วงได้ กรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงตัวแทนของนิติบุคคลนั้นๆ สมาชิกจะต้องมีหนังสือแจ้งให้สมาคมทราบถึงการเปลี่ยนแปลงล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน ก่อนวันออกเสียงลงมติในการประชุมใหญ่ ออกเสียงเลือกตั้ง หรือสมัครเข้ารับเลือกตั้ง

ข้อ 9. การพิจารณาคำขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกสมาคม ให้เลขาธิการนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการเพื่ออนุมัติ เมื่อกรรมการมีมติให้รับเป็นสมาชิกแล้ว ให้เลขาธิการแจ้งให้ผู้สมัครผู้นั้นทราบ

ข้อ 10. สมาชิกภาพ สมาชิกภาพเริ่มตั้งแต่วันที่ผู้สมัครได้ชำระค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงเรียบร้อยแล้ว

ข้อ 11. การขาดจากสมาชิกภาพ สมาชิกภาพย่อมสิ้นสุดลง ในกรณีดังต่อไปนี้

ตาย หรือสิ้นสภาพนิติบุคคล
ขาดคุณสมบัติตามข้อ 6.1 หรือ 6.2 แล้วแต่กรณี
ลาออก โดยที่ยื่นหนังสือลาออกต่อคณะกรรมการสมาคม
ขาดคุณสมบัติตามข้อ 7
คณะกรรมการของสมาคมลงมติให้ลบชื่อออกจากทะเบียนสมาชิกโดย คะแนนเสียงข้างมาก ด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดดังต่อไปนี้
   (1) เจตนากระทำการใดๆ ที่ทำให้สมาคมเสื่อมเสียชื่อเสียง

   (2) เจตนาละเมิดข้อบังคับสมาคม

   (3) ขาดส่งเงินค่าบำรุงสมาคมเกินกว่า 3 เดือน

ข้อ 12. ทะเบียนสมาชิก ให้นายทะเบียนสมาคมจัดทำทะเบียนสมาชิกเก็บไว้ ณ สำนักงานของสมาคมโดยมีรายการตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. 2509 ได้กำหนดไว้

หมวดที่ 4 ค่าลงทะเบียน และค่าบำรุง

ข้อ 13. ค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคม

สมาชิกสามัญจะต้องชำระค่าลงทะเบียนแรกเข้า 2,000 บาท และค่าบำรุงสมาคมฯ เป็นประจำปีๆ ละ 4,000 บาท (สี่พันบาทถ้วน)
สมาชิกวิสามัญจะต้องชำระค่าลงทะเบียนแรกเข้า 2,000 บาท และค่าบำรุงสมาคมฯ เป็นประจำปีๆ ละ 4,000 บาท (สี่พันบาทถ้วน)
สมาชิกส่วนภูมิภาคจะต้องชำระค่าลงทะเบียนแรกเข้า 1,000 บาท และค่าบำรุงสมาคมฯ เป็นประจำทุกปีๆ ละ 2,000 บาท (สองพันบาทถ้วน)
สมาชิกกิตติมศักดิ์ ไม่ต้องชำระค่าลงทะเบียนหรือค่าบำรุงแต่อย่างใดทั้งสิ้น
หรือให้เป็นไปตามประกาศของคณะกรรมการบริหารสมาคมในวาระนั้นๆ

หมวดที่ 5 สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก

ข้อ 14. สิทธิของสมาชิก

เข้าร่วมประชุมสามัญ และวิสามัญแสดงความคิดเห็นซักถามข้อข้องใจต่างๆ ต่อกรรมการ
ได้รับความช่วยเหลือและการสงเคราะห์ในเรื่องที่เกี่ยวกับกิจการตามวัตถุประสงค์ของสมาคม
เสนอความคิดเห็นหรือให้คำแนะนำต่อคณะกรรมการสมาคมในเรื่องใดๆ ตามวัตถุประสงค์ของสมาคม เพื่อนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองของสมาคม
ขอตรวจสอบกิจการและทรัพย์สินของสมาคมโดยทำเป็นหนังสือยื่นต่อเลขาธิการสมาคม
ประดับเครื่องหมายของสมาคม
เฉพาะสมาชิกสามัญเท่านั้นที่มีสิทธิในการรับเลือกตั้งเป็นกรรมการ ออกเสียงลงคะแนน และลงมติในที่ประชุมใหญ่ ทั้งนี้สมาชิกสามัญผู้นั้นต้องไม่ค้างชำระค่าบำรุงสมาคม
สมาชิกสามัญที่มีสิทธิในการรับเลือกตั้งเป็นกรรมการ ออกเสียงลงคะแนน และลงมติในที่ประชุมใหญ่นั้นจะต้องเป็นสมาชิกสามัญมาไม่น้อยกว่า 60 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง
ข้อ 15. หน้าที่ของสมาชิก

ต้องปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ และมติของที่ประชุมกรรมการ และ ที่ประชุมใหญ่โดยเคร่งครัด
ดำรงรักษาเกียรติ และผลประโยชน์ส่วนรวมของสมาคม
ส่งเสริมและสนับสนุน และเข้าร่วมกิจการของสมาคม
ชำระค่าบำรุงให้แก่สมาคมตามกำหนด
สมาชิกผู้ใดที่เปลี่ยนแปลงสถานะ เช่นเปลี่ยนชื่อ ย้ายที่อยู่ เปลี่ยนโทรศัพท์ ฯลฯ ต้องแจ้งให้เลขาธิการสมาคมทราบเป็นหนังสือภายในกำหนดเวลา 90 วัน นับตั้งแต่วันที่เปลี่ยนแปลง
หมวดที่ 6 คณะกรรมการของสมาคม

ข้อ 16. ให้มีคณะกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่งเป็นผู้บริหารงานของสมาคม และเป็นตัวแทนของสมาคม ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก ประกอบด้วยสมาชิกสามัญ ซึ่งได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี เพื่อดำรงตำแหน่ง นายก อุปนายก เลขาธิการ เหรัญญิก นายทะเบียน ประชาสัมพันธ์ และปฏิคม ตำแหน่งละ 1 คน ยกเว้นตำแหน่งอุปนายก ให้มีไม่เกิน 10 คน ให้ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกสมาคมพิจารณา แต่งตั้งกรรมการเพิ่มเติมและให้ประธานชมรมไทยบริการท่องเที่ยวส่วนภูมิภาคเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ทั้งนี้รวมทั้งคณะไม่เกิน 35 คน ผู้ที่ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมจะต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย

ข้อ 17. การเลือกตั้งคณะกรรมการให้กระทำโดยวิธีให้สมาชิกสามัญเสนอชื่อคณะสมาชิกสามัญ ซึ่งประสงค์จะให้เข้ารับเลือกเป็นคณะกรรมการต่อที่ประชุม โดยมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 10 คน แล้วให้ที่ประชุมใหญ่ลงมติเลือกตั้งคณะที่ได้รับคะแนนสูงสุดดำรงตำแหน่งกรรมการ ถ้าคณะที่ได้คะแนนเท่ากัน ให้ที่ประชุมใหญ่ลงมติใหม่ เฉพาะคณะที่ได้คะแนนสูงสุดเท่ากัน หากปรากฏว่ายังได้คะแนนเท่ากันอีก ก็ให้ใช้วิธีจับฉลาก

ข้อ 18. กรรมการอยู่ในตำแหน่งตามวาระ คราวละ 2 ปี กรรมการที่พ้นจากตำแหน่ง มีสิทธิ์ได้รับเลือกเป็นกรรมการใหม่ได้ ยก เว้นนายกสมาคมให้อยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 สมัยติดต่อกัน

ข้อ 19. การพ้นจากตำแหน่งกรรมการ กรรมการของสมาคมย่อมพ้นจากตำแหน่งกรรมการ ในกรณีดังต่อไปนี้

ครบกำหนดออกตามวาระ
ลาออก โดยได้ยื่นหนังสือลาออกต่อคณะกรรมการของสมาคม
พ้นจากการเป็นผู้แทนของสมาชิกสามัญซึ่งเป็นนิติบุคคล
ขาดจากสมาชิกภาพ
ที่ประชุมใหญ่มีมติให้ถอดถอนจากการเป็นกรรมการ
เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สั่งออก ตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. 2509
ขาดคุณสมบัติ ตามข้อ1
ข้อ 20. กรณีที่กรรมการพ้นจากตำแหน่งกรรมการก่อนครบกำหนดออกตามวาระ นายก ของสมาคม อาจตั้งสมาชิกสามัญคนใดคนหนึ่งให้เป็นกรรมการแทนได้ แต่กรรมการที่ได้รับแต่งตั้งแทนนี้ ให้เป็นกรรมการอยู่ในตำแหน่งได้เท่าที่กำหนดเวลาของผู้ที่ตนแทน กรณีคณะกรรมการพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะก่อนครบกำหนดให้คณะกรรมการชุดเดิมรักษาการชั่วคราว จนกว่าจะได้คณะ กรรมการชุดใหม่

ข้อ 21. องค์ประชุมในการประชุมของคณะกรรมการ ยกเว้นกรรมการที่เป็นประธานชมรมไทยบริการท่องเที่ยวส่วนภูมิภาค ต้องมีกรรมการเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะนับว่าเป็นองค์ประชุม

ข้อ 22. มติของที่ประชุมคณะกรรมการ นอกจากที่กล่าวไว้เป็นอย่างอื่นในข้อบังคับนี้ ให้ถือเอาคะแนนเสียงข้างมากเป็นมติของที่ประชุม ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด

ข้อ 23. ประธานในที่ประชุม ให้นายกสมาคมเป็นประธานในที่ประชุม ถ้านายกไม่อยู่ให้อุปนายกหรือกรรม การคนใดคนหนึ่งเป็นประธานที่ประชุมเฉพาะในการประชุมคราวนั้น

ข้อ 24. การประชุมคณะกรรมการ ให้มีการประชุมอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง

ข้อ 25. กรรมการเก่าต้องส่งมอบงานให้กรรมการใหม่ที่ได้รับเลือก ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันเลือกตั้ง และให้ดำเนินการจดทะเบียนต่อนายทะเบียนสมาคมโดยพลัน

ข้อ 26. ให้คณะกรรมการของสมาคมมีอำนาจและหน้าที่ดังนี้

จัดดำเนินกิจการและทรัพย์สินของสมาคมให้เป็นไปตามข้อบังคับและมติของที่ประชุม
กำหนดระเบียบ วิธีปฏิบัติงานของสมาคมและออกข้อกำหนดต่างๆเท่าที่ไม่แย้งหรือขัดกับข้อบังคับนี้
แต่งตั้งคณะที่ปรึกษา คณะทำงาน อนุกรรมการฝ่ายต่างๆ ว่าจ้าง แต่งตั้ง และถอดถอน เจ้าหน้าที่และพนักงานทั้งปวง เพื่อให้การดำเนินงานของสมาคมเป็นไปโดยเรียบร้อยโดยอยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการของสมาคม
ข้อ 27. อำนาจหน้าที่กรรมการของสมาคมในตำแหน่งต่างๆ มีดังนี้

นายกสมาคม มีหน้าที่ดำเนินกิจการของสมาคมให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับเป็นผู้แทนของสมาคมในการติดต่อกับบุคคลภายนอก เป็นประธานในที่ประชุมของคณะกรรมการ และ ที่ประชุมใหญ่สมาชิก
อุปนายก มีหน้าที่เป็นผู้ช่วยนายกในกิจการทั้งปวงที่นายกมอบหมาย หรือเมื่อนายกสมาคมไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้
เลขาธิการ มีหน้าที่ทำการโต้ตอบหนังสือเก็บรักษาเอกสารต่างๆ ของสมาคม เป็นเลขาธิการในที่ประชุมคณะกรรมการของสมาคมและที่ประชุมใหญ่ ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่คณะกรรมการของสมาคมจะได้รับมอบหมาย
เหรัญญิก มีหน้าที่รักษาและจ่ายเงินของสมาคมทำบัญชีการเงิน เก็บรักษาและจ่ายพัสดุของสมาคม ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่คณะกรรมการของสมาคมจะได้รับมอบหมาย
ประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่เกี่ยวกับการโฆษณาเชิญชวนหาสมาชิก โฆษณากิจการและผลงานด้านต่างๆ ของสมาคมตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่นๆตามที่คณะกรรมการของสมาคมจะได้มอบหมาย
ปฏิคม มีหน้าที่ต้อนรับรักษาสำนักงานของสมาคม รักษาความเรียบร้อยของสถานที่ รักษาสมุดเยี่ยม จัดสถานที่ประชุมตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่คณะกรรมการของสมาคมจะได้มอบหมาย
นายทะเบียน มีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดทำทะเบียนสมาชิกและทะเบียนต่างๆ อันมิใช่ทะเบียนเกี่ยวกับการเงินของสมาคม ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่คณะกรรมการของสมาคมจะได้มอบหมาย
กรรมการกลาง มีหน้าที่ประสานงานทั่วไป และตามที่นายกสมาคมมอบหมาย
หมวดที่ 7 การประชุมใหญ่

ข้อ 28. การประชุมใหญ่ การประชุมใหญ่ให้หมายถึงการประชุมสมาชิกของสมาคมแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

การประชุมใหญ่สามัญ      คือ   การประชุมใหญ่ที่จะต้องให้มีขึ้นปีละหนึ่งครั้ง
2. การประชุมใหญ่วิสามัญ         คือ   การประชุมนอกจากการประชุมใหญ่สามัญประจำปี
ข้อ 29. กำหนดการประชุมใหญ่มีดังนี้

ให้มีการประชุมสามัญประจำปี ภายในกำหนด 120 วัน นับแต่วันสิ้นปีการบัญชี
ถ้ามีวาระที่คณะกรรมการของสมาคมเห็นสมควร หรือสมาชิกสามัญมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ แสดงความจำนงที่จะให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญเป็นวาระพิเศษ โดยทำเป็นหนังสือยื่นต่อเลขาธิการของสมาคม ให้คณะกรรมการเรียกประชุมภายในกำหนดเวลา 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ
หากคณะกรรมการไม่เรียกประชุมใหญ่วิสามัญภายในกำหนดเวลานี้ สมาชิกสามัญไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่อาจเรียกประชุมได้ภายใน 30 วัน โดยสมาคมเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าวข้างต้น

ข้อ 30. การส่งหนังสือบอกกล่าวนัดประชุม คณะกรรมการของสมาคมจะต้องส่งหนังสือบอกกล่าวถึง วัน เวลา สถานที่ และวาระการประชุมโดยทางจดหมาย และ/หรือ Fax และ/หรือ E-mail ณ ที่อยู่ของสมาชิกที่ปรากฏอยู่ในทะเบียน ก่อนกำหนดวันประชุม ไม่น้อยกว่า 7 วัน

ข้อ 31. ในการประชุมใหญ่สามัญ และวิสามัญ จะต้องมีสมาชิกมาประชุมหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกประเภทสามัญจึงจะถือเป็นองค์ประชุม

ข้อ 32. กรณีที่การประชุมใหญ่ในครั้งแรก สมาชิกมาไม่ครบองค์ประชุม ให้เลื่อนการประชุม โดยให้เรียกการประชุมอีกครั้งภายใน 14 วัน ในการประชุมใหญ่ครั้งหลังนี้จะมีสมาชิกมา มากน้อยเพียงใดก็ให้ถือว่าเป็นองค์ประชุม

ข้อ 33. ประธานในที่ประชุม ให้นายกฯ เป็นประธานในที่ประชุมใหญ่ ถ้านายกสมาคมไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้อุปนายกฯทำหน้าที่แทน ถ้าทั้งนายกฯ และอุปนายกฯ ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้ที่ประชุมเลือกตั้ง กรรมการคนหนึ่งคนใดขึ้นเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าไม่มีกรรมการอยู่ในที่ประชุมเลย ก็ให้ที่ประชุมใหญ่เลือกสมาชิกสามัญคนหนึ่งคนใดขึ้นเป็นประธานในที่ประชุมเฉพาะการประชุมคราวนั้น

ข้อ 34. วิธีออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่ สมาชิกคนหนึ่งๆมีคะแนนเสียงหนึ่งเสียง การออกเสียงในที่ประชุมใหญ่ ให้เลือกปฏิบัติได้เป็น 2 กรณี คือ

โดยวิธีลงคะแนนลับให้ใช้วิธีเขียนบัตรลงคะแนน
โดยวิธีเปิดเผยให้ใช้วิธีชูมือ
ข้อ 35. มติของที่ประชุม นอกจากที่กล่าวไว้เป็นอย่างอื่นในข้อบังคับนี้ ให้ถือเอาคะแนนเสียงข้างมากเป็นมติของที่ประชุม ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด

ข้อ 36. การประชุมใหญ่สามัญประจำปี ต้องมีวาระดังนี้

รับรองรายงานการประชุมครั้งที่แล้ว
แถลงผลการดำเนินกิจการของสมาคมในช่วงปีที่ผ่านมา
พิจารณาอนุมัติงบดุล บัญชีรายได้ – รายจ่าย
เลือกตั้งคณะกรรมการ (ถ้ามี)
แต่งตั้งผู้สอบบัญชีประจำปี และกำหนดค่าตอบแทน
เรื่องอื่นๆ (ถ้ามี)
หมวดที่ 8 การเงินและการบัญชีของสมาคม

ข้อ 37. ให้ฝ่ายบัญชี จัดทำงบดุลบัญชีรายได้ – รายจ่าย ปีละหนึ่งครั้ง แล้วให้ผู้สอบบัญชีทำการตรวจสอบ ผู้สอบบัญชีจะต้องตรวจสอบและรับรองให้แล้วเสร็จก่อนวันประชุมสามัญประจำปี

ข้อ 38. ปีการบัญชี ให้ถือเอาวันที่ 31 เดือนธันวาคม ของทุกปี เป็นวันสิ้นปีการบัญชีของสมาคม

ข้อ 39. ผู้สอบบัญชีซึ่งที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งมีอำนาจเข้าตรวจสอบสมุดบัญชี และบรรดาเอกสารเกี่ยวกับการเงินของสมาคมและมีสิทธิสอบถาม กรรมการ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของสมาคมทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบัญชีและเอกสารดังกล่าว ในการนี้กรรมการและเจ้าหน้าที่จะต้องให้ความสะดวกเพื่อการตรวจสอบดังกล่าว

ข้อ 40. สมุดบัญชีและเอกสารการเงินของสมาคมจะต้องเก็บรักษาไว้ ณ สำนักงานของสมาคม และให้อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของเหรัญญิกสมาคม

ข้อ 41. เงินสดของสมาคมจะต้องนำฝากไว้ ณ ธนาคารพาณิชย์ในนามของสมาคม โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ให้มีเงินทดรองจ่ายเกี่ยวกับกิจการของสมาคมไม่เกินวงเงิน 20,000 บาท (สองหมื่นบาทถ้วน) ในการนี้ให้ผู้จัดการสมาคมเป็นผู้รับผิดชอบและเก็บรักษาตัวเงิน การฝากและการถอนเงินจากธนาคารให้อยู่ในอำนาจของนายกสมาคมหรืออุปนายกสมาคม ร่วมกับเลขาธิการหรือเหรัญญิก พร้อมประทับตราสำคัญของสมาคม

ข้อ 42. การจ่ายเงินของสมาคม ในการจ่ายเงินของสมาคม ครั้งละเกินกว่า 100,000 บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน) ให้กระทำโดยมติของที่ประชุมคณะกรรมการ ยกเว้นการจ่ายเงินตามโครงการของสมาคมซึ่งที่ประชุมกรรมการได้มีมติอนุมัติในรายละเอียดของโครงการและงบประมาณ สามารถจ่ายเงินได้ไม่เกินงบประมาณที่ได้รับการอนุมัติไปแล้วเท่านั้น

หมวดที่ 9 การแก้ไขข้อบังคับ การเลิกสมาคม และการชำระบัญชี

ข้อ 43. ข้อบังคับนี้จะแก้ไขเปลี่ยนแปลง โดยมติของที่ประชุมใหญ่

ข้อ 44. สมาคมนี้อาจเลิกได้ด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดดังต่อไปนี้

เมื่อที่ประชุมใหญ่ลงมติให้เลิกด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกสามัญทั้งหมด
เมื่อล้มละลาย
เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สั่งให้เลิกตามมาตรา 36 แห่ง พระราช บัญญัติสมาคมการค้าพ.ศ. 2509
ข้อ 45. เมื่อสมาคมนี้ต้องเลิกไปเพราะเหตุหนึ่งเหตุใดดังกล่าวในข้อ 44. การชำระบัญชี ของสมาคมให้นำบทบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. 2509 มาใช้บังคับ ในกรณีที่สมาคมต้องเลิกไปตามข้อ 44.1 ให้ที่ประชุมใหญ่ครั้งนั้นลงมติเลือกตั้งผู้ชำระบัญชี และหากต้องเลิกไปตามข้อ 44.3 ให้นายก อุปนายก เหรัญญิกของสมาคม เป็นผู้ชำระบัญชี หากมีทรัพย์สินของสมาคมเหลือจากการชำระบัญชีให้ยกให้แก่ สมาคม หรือมูลนิธิในประเทศไทยที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการกุศลสาธารณะแห่งหนึ่งแห่งใดหรือหลายแห่งตามมติของที่ประชุมใหญ่

หมายเหตุ:

แก้ไขข้อบังคับตามมติที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2548 วันที่ 28 เมษายน 2548

– หมวดที่ 3 สมาชิกและสมาชิกสมทบ                                   ข้อ 5, 6, 7, 8, 9, 11, 12

– หมวดที่ 4 ค่าลงทะเบียนและค่าบำรุง                                  ข้อ 14

– หมวดที่ 5 สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก                                 ข้อ 15, 16

– หมวดที่ 6 คณะกรรมการสมาคมฯ                                      ข้อ 17, 18, 19, 20, 24, 25, 26

– หมวดที่ 7 การประชุมใหญ่                                              ข้อ 29, 30, 31, 33, 36, 37

– หมวดที่ 8 การเงินและการบัญชีของสมาคมฯ                        ข้อ 38, 42, 43

– หมวดที่ 9 การแก้ไขข้อบังคับ การเลิกสมาคมฯ และการชำระบัญชี ข้อ 44, 45, 46

– หมวดที่ 10 บทเฉพาะกาล                                              ข้อ 47, 48, 49

แก้ไขข้อบังคับตามมติที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2549 วันที่ 4 พฤษภาคม 2549

– หมวดที่ 1 บทความทั่วไป                                               ข้อ 2

– หมวดที่ 2 ค่าลงทะเบียนและค่าบำรุง                                  ข้อ 13

– หมวดที่ 7 การประชุมใหญ่                                              ข้อ 31

แก้ไขข้อบังคับตามมติที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2552 วันที่ 27 เมษายน 2553

– หมวดที่ 4 ค่าลงทะเบียน และค่าบำรุง                                 ข้อ 13

แก้ไขข้อบังคับตามมติที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2553 วันที่ 19 เมษายน 2554

– หมวดที่ 1 บทความทั่วไป                                               ข้อ 3

– หมวดที่ 7 การประชุมใหญ่สามัญ                                       ข้อ 29, 31, 32

แก้ไขข้อบังคับตามมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี 2555 วันที่ 22 พฤษภาคม 2556

– หมวดที่ 7 การประชุมใหญ่สามัญ                                       ข้อ 30, 31, 32

แก้ไขข้อบังคับตามมติที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2557 วันที่ 28 เมษายน 2558

– หมวดที่ 3 สมาชิกและสมาชิกภาพ                                     ข้อ 5, 6, 7, 8, 11

– หมวดที่ 4 ค่าลงทะเบียนและค่าบำรุง                                  ข้อ 13

– หมวดที่ 5 สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก                                 ข้อ 14, 15

– หมวดที่ 6 คณะกรรมการสมาคมฯ                                      ข้อ 16, 17, 19, 21

– หมวดที่ 7 การประชุมใหญ่                                              ข้อ 29, 36

– หมวดที่ 8 การเงินและการบัญชีของสมาคมฯ                        ข้อ 41, 42

แก้ไขข้อบังคับตามมติที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2559 วันที่ 27 เมษายน 2560

– หมวดที่ 7 การประชุมใหญ่                                              ข้อ 31

แก้ไขข้อบังคับตามมติที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2563 วันที่ 27 พฤษภาคม 2564

– หมวดที่ 3 สมาชิกและสมาชิกภาพ                                     ข้อ 6

– หมวดที่ 5 สิทธิและหน้าที่สมาชิก                                      ข้อ 14 , 15

– หมวดที่ 7 การประชุมใหญ่                                              ข้อ 29 , 31

แก้ไขข้อบังคับตามมติที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2565 วันที่ 28 เมษายน 2566

– หมวดที่ 3 สมาชิกและสมาชิกภาพ                                     ข้อ 6 , 8

– หมวดที่ 4 ค่าลงทะเบียน และค่าบำรุง                                 ข้อ 13

– หมวดที่ 5 สิทธิและหน้าที่สมาชิก                                      ข้อ 14

– หมวดที่ 6 คณะกรรมการของสมาคม                                  ข้อ 16